รัฐมิโซรัมทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียก้าวออกจากความยากจนอย่างช้าๆ แม้ว่ารัฐนี้จะขาดรายได้ แต่เมื่อข่าวประเสริฐเข้ามาสู่พื้นที่นี้ ผู้เชื่อในพระเยซูได้ทำตามธรรมเนียมปฏิบัติท้องถิ่นที่เรียกว่า “ข้าวหนึ่งกำมือ” โดยทุกคนที่ทำอาหารในแต่ละวันจะแบ่งข้าวสารไว้หนึ่งกำมือและมอบให้คริสตจักร ตามมาตรฐานของโลกแล้วคริสตจักรในมิโซรัมถือว่ายากจน แต่ได้บริจาคเงินนับล้านให้กับการประกาศและส่งมิชชันนารีไปทั่วโลก คนมากมายในรัฐนั้นได้มารู้จักพระคริสต์
ใน 2 โครินธ์ 8 เปาโลพูดถึงคริสตจักรที่พบความท้าทายคล้ายกัน ผู้เชื่อในมาซิโดเนียนั้นยากจน แต่นั่นไม่ได้หยุดพวกเขาที่จะให้ด้วยใจยินดีและเต็มกำลัง (ข้อ 1-2) พวกเขามองว่าการให้นั้นเป็นสิทธิพิเศษและได้ให้ “เกินความสามารถของเขา” (ข้อ 3) เพื่อจะได้มีส่วนร่วมกับเปาโล โดยเข้าใจดีว่าพวกเขาเป็นเพียงผู้อารักขาในของประทานจากพระเจ้า การให้จึงเป็นการแสดงถึงความเชื่อวางใจของพวกเขาในพระองค์ผู้ทรงจัดเตรียมสำหรับความจำเป็นทุกอย่างของเรา
เปาโลใช้เรื่องราวของชาวมาซิโดเนียเพื่อหนุนใจชาวโครินธ์ให้แบ่งปันเช่นเดียวกัน ชาวโครินธ์มีพร้อม “บริบูรณ์ทุกสิ่ง คือความเชื่อ ฝีปาก ความรู้ ความกระตือรือร้น และความรัก” บัดนี้พวกเขาจึงต้อง “ประกอบการกุศลนี้อย่างบริบูรณ์เหมือนกัน” (ข้อ 7)
ดังเช่นชาวมาซิโดเนียและผู้เชื่อในมิโซรัม เราเองก็สามารถสะท้อนถึงความเมตตาของพระบิดาได้โดยการให้ด้วยใจกว้างขวางในสิ่งที่เรามี
จิตรกรแนวโรแมนติกชาวอังกฤษ จอห์น มาร์ติน (ค.ศ. 1789-1854) เป็นที่รู้จักจากภาพวาดที่เกี่ยวกับวันสิ้นโลกซึ่งแสดงถึงการล่มสลายของอารยธรรม ในภาพเหตุการณ์ใหญ่อย่างไม่น่าเชื่อเหล่านี้ มนุษย์ถูกปกคลุมไปด้วยการทำลายล้างขนาดมหึมาและไร้กำลังที่จะต่อต้านหายนะที่ประชิดเข้ามา ภาพวาดชิ้นหนึ่งชื่อ การล่มสลายของนครนีนะเวห์ แสดงให้เห็นภาพที่ผู้คนกำลังหลบหนีจากการทำลายล้างของคลื่นที่ก่อตัวขึ้นสูงภายใต้กลุ่มเมฆม้วนอันดำมืด
กว่าสองพันปีก่อนภาพวาดของมาร์ติน ผู้เผยพระวจนะนาฮูมเผยพระวจนะต่อต้านเมืองนีนะเวห์โดยบอกล่วงหน้าถึงการพิพากษา ผู้เผยพระวจนะใช้ภาพภูเขาที่สั่นสะเทือน เนินเขาก็ละลายไป และแผ่นดินโลกก็เริศร้าง (นฮม.1:5) เพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงพระพิโรธของพระเจ้าต่อผู้ที่กดขี่คนอื่นเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง อย่างไรก็ตามการตอบสนองของพระเจ้าต่อบาปนั้นกอปรด้วยพระคุณเสมอ ขณะที่นาฮูมเตือนผู้ฟังถึงฤทธานุภาพของพระเจ้า ท่านบันทึกว่าพระองค์ “ทรงกริ้วช้า” (ข้อ 3) และ “ทรงห่วงใยบรรดาผู้ที่วางใจในพระองค์” (ข้อ 7 TNCV)
คำบรรยายถึงเรื่องการพิพากษานั้นยากที่จะเข้าใจ แต่โลกที่ไม่ต่อต้านความชั่วร้ายนั้นคงจะเป็นโลกที่น่าหวั่นกลัว น่าดีใจที่ผู้เผยพระวจนะไม่ได้จบลงที่ข้อความนั้น ท่านเตือนความจำเราว่าพระเจ้าทรงปรารถนาโลกที่ดีและยุติธรรม “ดูเถิด บนภูเขานั่น เท้าของผู้นำข่าวดีมา ผู้ประกาศสันติภาพ!” (ข้อ 15 TNCV) ข่าวดีที่ว่านั้นก็คือพระเยซู ผู้ได้ทรงทนทุกข์กับผลของบาปเพื่อเราทั้งหลายจะได้มีสันติสุขในพระเจ้า (รม.5:1, 6)
เพื่อนคนหนึ่งได้ละเมิดคำปฏิญาณแห่งการแต่งงานของเขา ผมเจ็บปวดที่เห็นเขาทำลายครอบครัวของตัวเอง ขณะที่ขอคืนดีกับภรรยาเขาขอคำแนะนำจากผม ผมบอกว่าเขาต้องทำมากกว่าแค่คำพูด เขาจำเป็นต้องแสดงความรักต่อภรรยาอย่างจริงจัง และขจัดนิสัยบาปออกไป
ผู้เผยพระวจนะเยเรมีย์ให้คำแนะนำที่คล้ายกันนี้แก่ผู้ที่ละเมิดพันธสัญญาของพระเจ้าและไปติดตามพระอื่น การกลับมาหาพระองค์เพียงเท่านั้นไม่พอ (ยรม.4:1)แม้นั่นจะเป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้องก็ตาม พวกเขายังต้องปรับการกระทำให้สอดคล้องกับสิ่งที่พวกเขาพูดด้วย คือการกำจัด “สิ่งที่น่าสะอิดสะเอียน” (ข้อ 1) เยเรมีย์กล่าวว่า ถ้าพวกเขามุ่งมั่นที่จะทำ “อย่างสัจจริง อย่างยุติธรรม และอย่างเที่ยงตรง” พระเจ้าก็จะทรงอวยพรบรรดาประชาชาติ (ข้อ 2) ปัญหาคือพวกเขาเพียงแค่ให้คำสัญญาที่ว่างเปล่า หัวใจของพวกเขาไม่ได้อยู่ในนั้น
พระเจ้าไม่ต้องการแค่เพียงคำพูด พระองค์ทรงต้องการหัวใจของเรา ดังที่พระเยซูตรัสว่า “ด้วยว่าปากนั้น พูดจากสิ่งที่มาจากใจ” (มธ.12:34) นั่นเป็นเหตุผลที่เยเรมีย์หนุนใจผู้ที่ยอมรับฟังว่า ให้พวกเขาทุบดินแห่งจิตใจของตนที่ไถไว้แล้วนั้น และอย่าหว่านลงกลางพงหนาม (ยรม.4:3)
น่าเศร้าที่เพื่อนของผมไม่ฟังคำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์ ซึ่งส่งผลให้ชีวิตแต่งงานของเขาต้องจบลงเช่นเดียวกับอีกหลายๆคน เมื่อเราทำบาป เราต้องสารภาพบาปและหันหลังกลับ พระเจ้าไม่ต้องการคำสัญญาที่ว่างเปล่า พระองค์ทรงปรารถนาชีวิตที่เชื่อฟังพระองค์อย่างแท้จริง
เป็นเวลานานกว่าสองศตวรรษที่บทเพลง “อยากจะมีลิ้นสักพันบรรเลง” ได้อยู่บนหน้าแรกในหนังสือเพลงนมัสการของคริสตจักรเมธอดิสต์ เพลงนี้ประพันธ์โดยชาร์ลส์ เวสลี่ย์ และมีชื่อเดิมว่า “เพลงฉลองวันครบรอบการกลับใจใหม่” ซึ่งแต่งขึ้นเพื่อระลึกถึงจุดเริ่มต้นการฟื้นฟูครั้งใหญ่ที่เกิดจากความเชื่อของเขาในพระเยซู ประกอบด้วยเนื้อเพลงสิบแปดท่อนที่ป่าวประกาศถึงพระเกียรติสิริแห่งความดีของพระเจ้าที่มีต่อผู้ที่กลับใจและติดตามพระคริสต์
นี่เป็นความเชื่อที่ควรค่าแก่การเฉลิมฉลองและแบ่งปัน ใน 2 ทิโมธี บทที่ 2 เปาโลหนุนใจทิโมธีให้ยังคงยึดมั่นและทุ่มเทในการส่งต่อความเชื่อของเขา ท่านบอกว่า “ตามข่าวประเสริฐที่ข้าพเจ้าประกาศนั้น และเพราะเหตุข่าวประเสริฐนั้นข้าพเจ้าจึงทนทุกข์ ถูกล่ามโซ่ดังผู้ร้าย” (ข้อ 8-9) แทนที่จะตั้งคำถามกับสิ่งที่เปาโลเลือก ท่านเตือนทิโมธีให้ระลึกถึงเนื้อหาของข่าวประเสริฐที่ว่า “พระเยซูคริสต์ผู้ได้ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาจากความตาย และทรงสืบเชื้อสายจากดาวิด” (ข้อ 8) ได้เสด็จมาไม่ใช่เพื่อจะปกครองแต่มาเพื่อรับใช้ และในที่สุดได้ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อความบาปของโลกนี้เพื่อเราจะได้มีสันติสุขในพระเจ้า ความตายหาได้มีชัย เพราะพระเยซูทรงฟื้นคืนพระชนม์
เช่นเดียวกับที่ข่าวประเสริฐได้ปลดปล่อยบรรดาผู้เชื่อให้เป็นอิสระ ข่าวประเสริฐเองก็มิได้ถูกผูกมัด “พระวจนะของพระเจ้านั้นไม่มีผู้ใดเอาโซ่ล่ามไว้ได้” เปาโลกล่าว (ข้อ 9) แม้จากสถานที่ที่ความตายดูเหมือนจะมีชัยอย่างห้องขัง เตียงในโรงพยาบาล หรือข้างหลุมฝังศพ แต่ในพระคริสต์นั้นมีความหวังสำหรับมนุษย์ทุกคน นี่คือข่าวดีที่ควรค่าแก่การเฉลิมฉลอง!
เมื่อไม่กี่ปีก่อน มีการเชิญชวนให้คริสตจักรของเราช่วยจัดที่พักแก่ผู้ลี้ภัยที่หนีความวุ่นวายจากการเปลี่ยนผู้นำทางการเมืองในประเทศของพวกเขา ครอบครัวเหล่านั้นมาพร้อมกับข้าวของเท่าที่พวกเขาจะใส่ลงไปได้ในกระเป๋าใบเล็กๆมีหลายครอบครัวในคริสตจักรของเราที่เปิดบ้านให้เป็นที่พัก รวมถึงบางคนที่มีห้องเล็กๆ
การมีน้ำใจรับรองแขกของพวกเขาสะท้อนถึงพระบัญชาสามประการที่พระเจ้ามีต่อชนอิสราเอลเมื่อพวกเขาเดินทางเข้าสู่ดินแดนแห่งพระสัญญา (ฉธบ. 24:19-21) เนื่องด้วยเป็นสังคมเกษตรกรรม พวกเขาจึงเข้าใจถึงความสำคัญของการเก็บเกี่ยว พืชผลมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำรงชีวิตให้ถึงปีหน้า นี่ทำให้พระบัญชาของพระเจ้าที่ “ให้ [ฟ่อนข้าว]เป็นของคนต่างด้าว ลูกกำพร้าและแม่ม่าย” (ข้อ 19) เป็นการเรียกร้องให้พวกเขาเชื่อวางใจในพระองค์ด้วย ชาวอิสราเอลต้องแสดงความมีน้ำใจด้วยการให้ไม่ใช่แค่ในเวลาที่พวกเขารู้ว่าตนมีพอ แต่ต้องให้ด้วยหัวใจที่เชื่อมั่นในการทรงจัดเตรียมของพระเจ้าด้วย
การต้อนรับขับสู้นี้ยังเป็นเครื่องเตือนใจว่า “[พวกเขา]เคยเป็นทาสอยู่ในอียิปต์” (ข้อ 18, 22) ครั้งหนึ่งพวกเขาถูกกดขี่และขัดสน ความมีน้ำใจของพวกเขาเตือนให้ระลึกถึงพระกรุณาคุณของพระเจ้าที่ช่วยปลดปล่อยพวกเขาจากพันธนาการ
ในทำนองเดียวกัน ผู้เชื่อในพระเยซูก็ถูกเรียกร้องให้มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ด้วย เปาโลเตือนเราว่า “แม้ [พระเยซู]มั่งคั่ง พระองค์ก็ยังทรงยอมเป็นคนยากจน เพราะเห็นแก่ท่านทั้งหลาย เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เป็นคนมั่งมี เนื่องจากความยากจนของพระองค์” (2 คร.8:9) เราให้เพราะพระองค์ทรงให้เราก่อน
เป็นเวลาหลายปีแล้วที่เราจากเมืองโอเรกอนซึ่งเป็นเมืองที่เราได้สร้างครอบครัวขึ้น เรามีความทรงจำมากมายที่นั่น และการไปเยือนครั้งล่าสุดทำให้ผมนึกถึงช่วงเวลาที่ผมลืมไปแล้ว นั่นคือการแข่งขันฟุตบอลหญิง บ้านเก่าของเรา การรวมตัวที่คริสตจักรและร้านอาหารเม็กซิกันของเพื่อนเรา เมืองเปลี่ยนไป แต่ยังมีผู้คนคุ้นเคยมากพอที่จะทำให้ผมอยากกลับไปเยือนอีก
เมื่อคนอิสราเอลตกเป็นเชลยในบาบิโลน พวกเขาคิดถึงความคุ้นชินในเรื่องผู้คน สถานที่หลักๆ และวัฒนธรรม พวกเขาลืมไปว่าถูกเนรเทศเพราะกบฏต่อพระเจ้า เมื่อผู้เผยพระวจนะเท็จบอกพวกที่ถูกเนรเทศว่าจะได้กลับบ้านภายในสองปี (ยรม.28:2-4; 29:8-9) พวกเขาพบผู้ฟังที่เต็มใจจะเชื่อ เป็นเรื่องสบายใจที่จะฟังถ้อยคำเสนาะหูของผู้เผยพระวจนะเท็จที่สัญญาว่าจะได้กลับบ้านเร็วๆนี้
พระเจ้าไม่ทรงกรุณาคนเหล่านั้นที่เร่ขายอดีตและคำสัญญาที่ไม่จริงของพวกตน พระองค์ตรัสว่า “อย่ายอมให้ผู้เผยพระวจนะของเจ้าทั้งหลาย หรือผู้ทำนายของเจ้าผู้อยู่ท่ามกลางหลอกลวงเจ้า” (29:8) พระองค์ทรงมีแผนงานเพื่อประชากรของพระองค์ “เป็นแผนงาน...เพื่อจะให้อนาคตและความหวังใจแก่ [พวกเขา]” (ข้อ 11) สถานการณ์นั้นท้าท้าย มีอุปสรรคและเป็นเรื่องใหม่ แต่พระเจ้าสถิตกับพวกเขา ตรัสว่า “เจ้าจะแสวงหาเราและพบเรา เมื่อเจ้าแสวงหาเราด้วยสิ้นสุดใจของเจ้า” (ข้อ 13) พระเจ้าจะทรงนำพวกเขา “กลับมายังที่ซึ่งเราเนรเทศเจ้าให้จากไปนั้น” (ข้อ 14) แต่จะเกิดขึ้นในเวลาของพระองค์
ความอาลัยอาวรณ์เป็นกลอุบายในความคิด ทำให้เราโหยหาในอดีตที่เคยเป็น อย่าพลาดสิ่งที่พระเจ้าทรงกำลังทำอยู่ในเวลานี้ พระองค์จะทรงทำให้พระสัญญาของพระองค์สำเร็จ
จีนานเด็กหญิงชาวซีเรียวัยห้าขวบติดอยู่ใต้กองเศษหินความสูงสองชั้นของตึกที่ถล่มลงมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เธอร้องเรียกหน่วยกู้ภัยขณะที่คอยปกป้องน้องชายตัวน้อยของเธอจากเศษหินที่อยู่รอบข้าง “ช่วยหนูออกไปที จะให้หนูทำอะไรก็ได้” เธอร้องด้วยใจที่แตกสลาย “หนูจะยอมเป็นคนรับใช้คุณ”
เราจะพบเสียงร้องทุกข์ในตลอดพระธรรมสดุดี “ข้าพเจ้าได้ร้องทูลพระเจ้า จากที่คับแค้นใจของข้าพเจ้า” (118:5) แม้ว่าเราอาจจะไม่เคยรับรู้ถึงน้ำหนักของตึกที่ถล่มลงมาจากแผ่นดินไหว แต่เราทุกคนต่างก็รับรู้ได้ถึงความกลัวจนแทบหายใจไม่ออกจากคำวินิจฉัยทางการแพทย์ ความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคต หรือการสูญเสียความสัมพันธ์
ในช่วงเวลาเหล่านั้น เราอาจจะต่อรองกับพระเจ้าเพื่อขอการช่วยกู้จากพระองค์ แต่พระเจ้าไม่จำเป็นต้องให้ใครมาโน้มน้าว เพราะพระองค์ทรงสัญญาว่าจะตอบเรา และในขณะที่สถานการณ์ของเราอาจจะยังไม่ดีขึ้น พระองค์จะทรงสถิตกับเราและอยู่ฝ่ายเรา เราไม่ต้องกลัวอันตรายใดๆแม้กระทั่งความตาย เราสามารถพูดเหมือนผู้เขียนสดุดีว่า “พระเจ้าทรงอยู่ฝ่ายข้าพเจ้า เป็นผู้ทรงช่วยข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามองเห็นคนที่เกลียดข้าพเจ้าแพ้” (ข้อ 7)
เราไม่ได้รับคำสัญญาถึงการช่วยกู้ที่น่าทึ่งเช่นเดียวกับจีนานและน้องชาย แต่เราสามารถวางใจในพระเจ้าผู้ทรงสัตย์ซื่อ ผู้ทรง “ประทานความโล่งใจ” (ข้อ 5) แก่ผู้เขียนสดุดี พระองค์ทรงทราบสถานการณ์ของเราและพระองค์จะไม่มีวันทอดทิ้งเราแม้แต่ในความตาย
“อย่าลืมทำความสะอาดห้องด้านหน้าก่อนเข้านอนนะลูก” ฉันพูดกับลูกสาวคนเล็ก เธอตอบกลับมาทันทีว่า “แล้วทำไมพี่ไม่ต้องทำล่ะคะ”
การต่อต้านเล็กๆน้อยๆเกิดขึ้นเสมอในบ้านเมื่อลูกๆยังเล็กอยู่ ฉันก็จะตอบสนองเหมือนเดิมทุกครั้งคือ “ไม่ต้องห่วงเรื่องพี่หรอก เพราะแม่ขอให้หนูทำ”
ในยอห์น 21 เราเห็นนิสัยแบบนี้ของมนุษย์ในท่ามกลางเหล่าสาวก พระเยซูเพิ่งจะนำเปโตรกลับคืนมา หลังจากที่ท่านปฏิเสธพระองค์ไปแล้วสามครั้ง (ดู ยน. 18:15-18, 25-27) ตอนนี้พระเยซูพูดกับเปโตรว่า “จงตามเรามาเถิด” (21:19) ซึ่งเป็นคำสั่งง่ายๆแต่เจ็บปวด แล้วพระเยซูอธิบายว่าเปโตรจะติดตามพระองค์ไปจนตัวเองต้องตาย (ข้อ 18-19)
เปโตรยังไม่ทันจะได้ทำความเข้าใจคำพูดของพระเยซูก่อนที่ท่านจะถามไปถึงสาวกที่อยู่ด้านหลังว่า “พระองค์เจ้าข้า คนนี้จะเป็นอย่างไร” (ข้อ 21) พระเยซูตอบว่า “ถ้าเราอยากจะให้เขาอยู่จนเรามานั้น จะเป็นเรื่องอะไรของเจ้าเล่า” แล้วบอกว่า “เจ้าจงตามเรามาเถิด” (ข้อ 22)
บ่อยครั้งเหลือเกินที่เราก็เป็นเหมือนเปโตร! เราสงสัยถึงเส้นทางความเชื่อของผู้อื่น และไม่ได้สนใจว่าพระเจ้าทรงกำลังทำอะไรในชีวิตของเรา ในช่วงบั้นปลายชีวิตเมื่อความตายที่พระเยซูบอกไว้ล่วงหน้าในยอห์น 21 ใกล้เข้ามา เปโตรอธิบายคำสั่งง่ายๆของพระคริสต์เพิ่มเติมว่า “โดยที่ท่านเป็นบุตรที่เชื่อฟัง ขออย่าได้ประพฤติตามกิเลส ตัณหา อย่างที่เกิดจากความโง่เขลาของท่านในกาลก่อน แต่เพราะพระองค์ผู้ทรงเรียกท่านทั้งหลายนั้นบริสุทธิ์ ท่านทั้งหลายจงประพฤติให้บริสุทธิ์พร้อมทุกประการ” (1ปต.1:14-15) แค่นี้น่าจะเพียงพอแล้วที่ทำให้เราแต่ละคน มุ่งความสนใจของเราไปที่พระเยซู ไม่ใช่ที่คนรอบข้างเรา